ทำไมต้องอยู่ไฟหลังคลอด

สงสัยหรือไม่ ? ทำไมต้องอยู่ไฟหลังคลอด

ถ้าพูดถึงสมัยก่อนการอยู่ไฟหลังคลอด ก็คงเป็นเรื่องที่ทุกคนรู้จักกันดี ไม่ว่าคุณแม่บ้านไหนที่คลอดลูกก็เป็นต้องอยู่ไฟหลังคลอดกันทุกบ้าน เพราะการตั้งครรภ์และคลอดลูกนั้นส่งผลให้คุณแม่ มีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายๆอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสรีระ น้ำหนักตัว การปวดเมื่อยหรืออักเสบ รวมถึงธาตุทั้ง 4 ในร่างกายก็จะเสียสมดุลไปด้วย

จึงต้องอาศัยวิธีทางการแพทย์แผนไทย ด้วยการอยู่ไฟหลังคลอด เพื่อฟื้นฟูและปรับสมดุลให้ร่างกายของคุณแม่กลับมาเป็นปกติโดยเร็ว แต่สำหรับคุณแม่ในยุคปัจจุบันนั้น อาจจะไม่คุ้นชินหรือไม่เคยเห็นว่าการอยู่ไฟเป็นอย่างไร อาจทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทำไมต้องอยู่ไฟหลังคลอด อยู่ไฟหลังคลอดคืออะไร วิธีอยู่ไฟหลังคลอดเป็นแบบไหน แล้วต้องอยู่ไฟกี่วันนั้น ไปดูจากบทความด้านล่างกันเลยค่ะ

การอยู่ไฟ คืออะไร ?

การอยู่ไฟ คือ ขั้นตอนปฏิบัติสำหรับคุณแม่หลังคลอดที่จะช่วยให้คุณแม่ฟื้นตัวเร็ว หรือที่เคยได้ยินกันบ่อยๆ ว่า มดลูกเข้าอู่ เพราะร่างกายของคุณแม่หลังคลอดผ่านความเครียดจากการอุ้มท้องและการคลอดมาอย่างต่อเนื่อง การอยู่ไฟในปัจจุบันจึงเปรียบเสมือนเวลาพักของคุณแม่ให้ทั้งร่างกายและจิตใจได้พักผ่อน

ทำไมต้องอยู่ไฟ

เหตุผลที่ว่าทำไมต้องอยู่ไฟ ?

การอยู่ไฟเป็นกระบวนการดูแลหญิงหลังคลอดที่คนสมัยโบราณ เชื่อว่าจะช่วยทำให้ร่างกายฟื้นจากความเหนื่อยล้าให้กลับคืนสู่สภาพปกติได้โดยเร็ว โดยใช้ความร้อนเข้าช่วย ทำให้กล้ามเนื้อเส้นเอ็นบริเวณหลังและขาที่เกิดจากการกดทับในขณะตั้งครรภ์ได้คลายตัว การอยู่ไฟหลังคลอดช่วยลดอาการปวดเมื่อยตามตัว ทำให้เลือดลมไหลเวียนได้ดี ช่วยปรับสมดุลร่างกายของคุณแม่ให้เข้าที่ อาการหนาวสะท้านที่เกิดจากการเสียเลือดและน้ำหลังคลอดมีอาการดีขึ้น ทำให้มดลูกที่ขยายตัวได้หดรัดตัวหรือเข้าอู่ได้เร็ว พร้อมกับช่วยให้ปากมดลูกปิดได้ดี

จึงป้องกันการติดเชื้อในโพรงมดลูกหลังคลอด ทำให้น้ำคาวปลาแห้งเร็ว ลดการไหลย้อนกลับจนนำไปสู่ภาวะเป็นพิษ ในสมัยก่อนหมอตำแยจะไม่ได้เย็บแผลช่องคลอดที่ฉีกขาดจากการคลอด จึงต้องใช้วิธีอยู่ไฟหลังคลอดโดยให้คุณแม่นอนบนกระดานแผ่นเดียวจะได้หนีบขาทั้งสองข้างไว้ ช่วยให้แผลติดกันได้ แต่เมื่อนอนไปนานๆ ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวก็จะทำให้เกิดความอ่อนล้า เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก เมื่อจะลุกก็อาจจะเป็นลมได้ จึงต้องมีการผิงไฟเพื่อช่วยให้อุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น การไหลเวียนของเลือดจึงดีขึ้นตามไปด้วย และจะทำให้มดลูกเข้าอู่เร็วยิ่งขึ้นด้วย

วิธีอยู่ไฟหลังคลอด

1.การนวดประคบ
โดยทั่วไปเป็นการประคบร้อนเพื่อช่วยลดความเมื่อยล้า โดยนำเอาสมุนไพรที่มีน้ำมันหอมระเหย เช่น ว่านชักมดลูก ไพล ผิวมะกรูด ตะไคร้ ขมิ้นชัน ขมิ้นอ้อย เกลือแกง การบูร พิมเสน ว่านนางคำ ใบมะขาม ใบส้มป่อย ส้มเสี้ยว ว่านน้ำ และอื่น ๆ นำมาประคบตามจุดต่างๆ ของกล้ามเนื้อที่เกิดตึงปวด ในช่วงขณะตั้งครรภ์ ขณะที่กลิ่นของน้ำมันหอมระเหย จะระเหยออกมาเมื่อถูกความร้อน จะช่วยให้เกิดการผ่อนคลายอีกทางหนึ่ง

การนวดประคบจะช่วยให้คุณแม่ผ่อนคลายสบาย เพราะเนื้อเยื่อพังผืดยืดขยายออก ข้อต่อผ่อนคลาย ช่วยลดอาการเกร็งของกล้ามเนื้อ ลดอาการบวมจากการอักเสบของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อย และยังจะช่วยกระตุ้นและทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น

นวดประคบสมุนไพร

2.การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ
การนวดกล้ามเนื้อจะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดให้คุณแม่ ช่วยลดอาการตึงและอาการเมื่อยล้าที่เกิดจากการที่คุณแม่อุ้มท้องมาเป็นเวลาหลายเดือน โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อหลัง ที่ต้องแอ่นโค้งเพื่ออุ้มน้ำหนักลูกในท้อง ช่วยให้ผ่อนคลาย ลดอาการเมื่อยล้าและยังมีผลช่วยชะลอการเสื่อมของร่างกายได้

3.การอบสมุนไพร
การเข้ากระโจมอบสมุนไพรหรือตู้อบสมุนไพร เป็นอีกวิธีที่นิยมทำกัน โดยคุณแม่หลังคลอดเข้าไปอยู่ในห้องที่ปิดมิดชิด หรือในกระโจมโดยมีหม้อต้มน้ำสมุนไพรตั้งอยู่ภายในเพื่อให้ความร้อนทำหน้าที่ขับของเสียออกทางผิวหนัง ความร้อนจากน้ำสมุนไพรจะช่วยให้รูขุมขนเปิด ขับเอาของเสียภายในร่างกายออกมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำเหลืองเสีย น้ำคาวปลา จะถูกขับให้หมดไปได้อย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันสมุนไพรที่ซึมผ่านผิวหนังจะช่วยบำรุงผิวพรรณและร่างกาย ทำให้ผิวพรรณสดใสเปล่งปลั่ง ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน ช่วยทำความสะอาดระบบทางเดินหายใจ ลดอาการภูมิแพ้ ร่างกายแข็งแรงขึ้น และช่วยให้ดวงตาสว่างสดใส ไม่ฝ้ามัว

สมุนไพรที่ใช้ เช่น ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ตะไคร้ ผิวมะกรูด ว่านน้ำ ว่านชักมดลูก ว่านมหาเมฆ ว่านนางคำ ใบเปล้าหลวง ใบมะขาม ผักบุ้ง ผลส้ม ใช้เวลาอบประมาณ 20 นาที หลังอบให้ดื่มน้ำอุ่น 1 แก้ว แล้วนั่งพักให้ร่างกายได้ปรับอุณหภูมิเสียก่อน แล้วจึงค่อยไปอาบน้ำ

*แต่คุณแม่ควรวัดความดันก่อนเข้าอบตัว เพราะหากมีภาวะความดันสูงไม่ควรอยู่ไฟด้วยวิธีนี้

อบสมุนไพรหลังคลอด

4.อาบน้ำสมุนไพร
การอาบน้ำสมุนไพร เป็นการชำระล้างเหงื่อไคลและสิ่งสกปรกออกจากร่างกาย เนื่องจากคุณแม่หลังคลอดจะมีกลิ่นอับชื้น กลิ่นตัวค่อนข้างแรง แถมยังมีกลิ่นคาวจากน้ำคาวปลาที่ไหลออกมาตลอดช่วง 1-2 สัปดาห์แรก จึงควรอาบน้ำสมุนไพรติดต่อกันเป็นเวลา 7–30 วัน ใช้วิธีตักราดทั่วตัว ไม่ใช่นอนแช่ในอ่างน้ำ เพราะมีความเสี่ยงเกิดแผลฝีเย็บยังไม่แห้งสนิทและทำให้เกิดการติดเชื้อได้ การอาบน้ำสมุนไพรจะช่วยให้ร่างกายสะอาด สดชื่น ดับกลิ่นคาว เพิ่มความมั่นใจให้กับคุณแม่ได้ใหม่อีกครั้ง สมุนไพรที่ใช้ รวมถึง ไพล ขมิ้นอ้อย ขมิ้นชัน ใบมะขาม ผลส้ม เปลือกส้มโอ ผลมะกรูด ผักบุ้ง ตะไคร้

อยู่ไฟหลังคลอดกี่วัน ?

ปัจจุบันนี้การอยู่ไฟใช้เวลาวันละไม่กี่ชั่วโมง ติดต่อกัน 5-10 วัน ควบคู่ไปกับการให้คำแนะนำในการดูแลตนเองสำหรับคุณแม่ ในคุณแม่ที่คลอดเอง 7-10 วันหลังคลอดก็สามารถอยู่ไฟได้แล้ว แต่ถ้าคุณแม่ท่านไหนผ่าคลอดต้องรอประมาณ 30-45 วัน หรือจนกว่าแผลผ่าตัดจะหายนะคะถึงจะเริ่มอยู่ไฟได้

สำหรับคุณแม่คนไหนที่ไม่สะดวกอยู่ไฟก็ไม่ต้องกังวล เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีความเจริญก้าวหน้าไปไกลมาก คุณแม่ที่ไม่มีเวลาอยู่ไฟหลังคลอด ก็สามารถหาสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยปรับความสมดุลของร่างกายมารับประทานได้ แต่ที่สำคัญต้องมั่นใจว่าไม่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หรือมีสารที่ทำให้คุณแม่แพ้ และต้องพยายามให้ความอบอุ่นกับร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำอุ่น ดื่มน้ำอุ่น อยู่สม่ำเสมอ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *