การเกิดความกังวลใจสำหรับท้องแรกของ คุณแม่มือใหม่ นั้นเกิดขึ้นแทบจะทุกคนเลยก็ว่าได้ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกเลย เพราะว่าตัวคุณแม่เองไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน การที่จะเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการดูแลตัวเอง กับอีกหนึ่งชีวิตที่อยู่ในท้องให้ออกมาลืมตาดูโลก ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์และสามารถเลี้ยงดูเขาให้ดีที่สุดนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
จึงเป็นเรื่องปกติที่คุณแม่มือใหม่จะเกิดความกังวลใจในการเตรียมตัวว่าท้องแรกของ คุณแม่มือใหม่ควรกินอะไร ควรเตรียมอะไรบ้าง ไม่รู้จะต้องเริ่มต้นยังไงดี วันนี้เราจึงมาแนะนำในเรื่องการดูแลสุขภาพและการเตรียมความพร้อมของคุณแม่มือใหม่กันค่ะ
แม่มือใหม่ควรเรียนรู้ ลูกน้อยพัฒนาการอย่างไรในแต่ละไตรมาส
โดยปกติแล้วระยะเวลาที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดาจนถึงวันคลอดโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 40 สัปดาห์ โดยแบ่งเป็น 3 ไตรมาส ไตรมาสละ 12–14 สัปดาห์ หรือประมาณ 3 เดือน ซึ่งท้องแรกของคุณแม่มือใหม่ควรเรียนรู้และเข้าใจพัฒนาการของทารกในครรภ์ และดูแลตัวเองขณะตั้งครรภ์ในแต่ละไตรมาสอย่างเหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนและช่วยให้สุขภาพของคุณแม่และลูกน้อยแข็งแรงจนถึงวันคลอด
การตั้งครรภ์ไตรมาสแรก
เริ่มนับตั้งแต่วันแรกที่ประจำเดือนมาครั้งสุดท้าย จนถึงสัปดาห์ที่ 13 ของการตั้งครรภ์ โดยในไตรมาสแรกนี้คุณแม่ต้องเตรียมพร้อมรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในร่างกายอย่างรวดเร็ว ในไตรมาสแรก ทารกในครรภ์จะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยในช่วง 8 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ ทารกในครรภ์ที่เป็นตัวอ่อนจะเริ่มมีพัฒนาการของระบบการทำงาน เช่น หัวใจ สมอง ไขสันหลัง ระบบขับถ่าย และระบบย่อยอาหาร และการเติบโตของอวัยวะสำคัญในร่างกาย เช่น ดวงตา หู ปาก แขน และขาอย่างรวดเร็ว และในช่วงสัปดาห์ที่ 9–12 ของการตั้งครรภ์ ทารกจะเริ่มมีอวัยวะเพศ เล็บมือ เล็บเท้า และเริ่มขยับตัวอยู่ในท้องของคุณแม่
คุณแม่ควรไปพบแพทย์เพื่อฝากครรภ์ทันทีเมื่อทราบว่าตัวเองตั้งครรภ์ ในการฝากครรภ์ครั้งแรก แพทย์จะสอบถามประวัติสุขภาพ คำนวณวันกำหนดคลอด ตรวจร่างกาย และตรวจเลือด โดยแพทย์จะได้แนะนำการดูแลสุขภาพครรภ์ที่เหมาะสม
การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 2
อยู่ระหว่างสัปดาห์ที่ 13–28 ของการตั้งครรภ์ อวัยวะต่างๆ ในร่างกายของทารกจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์ ทารกจะเริ่มเคลื่อนไหวในท้องบ่อยขึ้น มีการตื่นและนอนหลับเป็นเวลา นอกจากนี้ทารกจะเริ่มได้ยินเสียง ขยับดวงตา ดูดและกลืนอาหารได้ ในไตรมาสนี้ ร่างกายทารกเริ่มสร้างผมชุดแรก ซึ่งมีลักษณะเป็นเส้นขนบางๆ ไม่มีสี ปกคลุมทั่วร่างกาย และสร้างไขมันบนผิวหนัง เพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิว
คุณแม่ควรไปพบแพทย์ตามนัดเพื่อตรวจสุขภาพในไตรมาสที่ 2 แพทย์จะตรวจร่างกาย ชั่งน้ำหนัก ฟังสัญญาณชีพจรของทารกในครรภ์ ตรวจวัดความดันโลหิต ตรวจปัสสาวะ เจาะเลือดเพื่อตรวจหาความเสี่ยงของโรคเบาหวาน อัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูเพศ การเจริญเติบโตและความผิดปกติของทารกในครรภ์
การตั้งครรภ์ไตรมาสที่ 3
ช่วงสัปดาห์ที่ 28 ไปจนถึงวันที่คุณแม่คลอด ไตรมาสสุดท้ายของการตั้งครรภ์ถือเป็นช่วงเวลาของการนับถอยหลังที่จะได้พบกับสมาชิกใหม่ของครอบครัว คุณแม่จึงควรดูแลสุขภาพครรภ์เป็นพิเศษ เพื่อให้ตัวเองและลูกน้อยที่กำลังจะเกิดมามีสุขภาพแข็งแรง โดยในสัปดาห์ที่ 32 ของการตั้งครรภ์ ทารกจะสามารถหลับตาและลืมตาได้ และกระดูกในร่างกายจะพัฒนาอย่างสมบูรณ์ และภายในสัปดาห์ที่ 36 ผมชุดแรกของทารกจะเริ่มหลุดร่วงไป และทารกจะเริ่มกลับหัว โดยหมุนศีรษะมาทางด้านช่องคลอด เพื่อเตรียมความพร้อมในการคลอด
การตั้งครรภ์ในไตรมาสที่ 3 แพทย์อาจนัดให้ไปตรวจครรภ์บ่อยขึ้น ทุกๆ 2 สัปดาห์ และนัดตรวจทุกสัปดาห์เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 36 ของการตั้งครรภ์ไปจนกว่าจะคลอด โดยแพทย์จะตรวจสุขภาพครรภ์ รวมทั้งตรวจหาโรคเบาหวาน ภาวะโลหิตจาง และการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสกรุ๊ปบี
แม่มือใหม่ เตรียมความพร้อมเรื่องใดบ้าง ?
1. ปรึกษาแพทย์
เมื่อรู้ว่าตั้งครรภ์สิ่งแรกเลยคือ รีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อปรึกษาหมอว่าต้องทำยังไงบ้าง เพราะเราได้เตรียมตัวตรวจร่างกาย ซึ่งการได้รับคำปรึกษาจากคุณหมอที่เข้าใจเรา และเราเข้าใจคุณหมอ จะทำให้คุณแม่มือใหม่อย่างเราสบายใจ ไม่กังวลค่ะ
2. กินอาหารต้องใส่ใจ แต่ไม่เข้มงวดเกินไปจนไม่มีความสุข
คุณแม่หลายท่านอาจรู้สึกกังวลเรื่องอาหารจนกลายเป็นไม่มีความสุข ต้องบอกว่าสิ่งสำคัญคือเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ กินให้หลากหลาย เน้นทานโปรตีน ผัก ผลไม้ที่มีรสหวานน้อย ลดขนม ของหวาน และพยายามไม่ทานอะไรซ้ำบ่อยๆ หรือเยอะจนเกินไป เพราะอาจทำให้ลูกมีโอกาสแพ้ได้
3. คุณแม่มือใหม่ ควรจัดการความกังวล
เป็นเรื่องปกติที่คุณแม่มือใหม่จะเริ่มเป็นกังวลเมื่อใกล้คลอด ทั้งต้องเตรียมของใช้ให้พร้อม ทั้งกลัวการคลอด กลัวจะดูแลลูกน้อยไม่ดี ลองเปลี่ยนความคิดเปลี่ยนจากความกลัว ให้เป็นความสุขในนับเวลาถอยหลังที่จะได้เห็นหน้าตาน่ารักน่าชังของลูกน้อย หรือการได้เดินช้อปปิ้งซื้อของใช้สำหรับเด็กก็จะช่วยลดความกังวลให้กับคุณแม่กลายเป็นความสุขที่ได้เลือกของให้ลูกรักนั้นเอง
4. ปรับอารมณ์ ปรับความรับผิดชอบ
ต้องบอกว่างานเลี้ยงลูกเป็นงานที่หนักและยาวนาน ยิ่งช่วงแรกเกิดต้องดูแลลูกน้อยตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ฉะนั้นการแบ่งความรับผิดชอบในครอบครัวจึงเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันปรับช่วยกันแบ่งให้ลงตัวค่ะ ไม่ปล่อยให้ภาระตกหนักอยู่ที่ใครคนใดคนหนึ่ง
5. ปรับความรู้ดูแลลูกน้อย
แน่นอนว่าคุณแม่มือใหม่ อาจยังไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก การหาความรู้เรื่องการเลี้ยงลูกจะช่วยให้คุณแม่รับมือกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ เช่น วิธีให้นมที่ถูกต้อง วิธีอุ้มเด็กแรกเกิด การอาบน้ำเด็กแรกเกิด หรือการรับมือกับโรคภัยไข้เจ็บ เพราะเมื่อเรามีความรู้เราก็จะไม่ต้องวิตกกังวลสามารถรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
แม่มือใหม่ ควรกินอะไรบำรุงร่างกาย ?
1. โปรตีน เป็นแหล่งอาหารสำหรับคนท้องที่สำคัญอย่างยิ่ง โดยโปรตีนจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตของสมอง ช่วยเพิ่มขนาดเซลล์ของทารก พบมากในเนื้อสัตว์ เนื้อปลา ไข่ นม นมถั่วเหลือง เต้าหู้ โยเกิร์ต ถั่ว ธัญพืช เป็นต้น
2. คาร์โบไฮเดรต เป็นแหล่งพลังงานที่มีความสำคัญต่อระบบสมองและประสาทของทารก แหล่งคาร์โบไฮเดรตที่ดี ได้แก่ ข้าวเจ้า ข้าวสาลี ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด เผือก มัน ถั่ว งา ก๋วยเตี๋ยว ขนมปังธัญพืช และผลไม้ต่างๆ
3. ธาตุเหล็ก ช่วยเพิ่มภูมิต้านทาน ป้องกันโรคโลหิตจาง สามารถพบได้ในเนื้อสัตว์ เนื้อไก่ ตับ เครื่องใน เลือด ปลา ไข่แดง ผักที่มีสีเขียวเข้ม เช่น ผักโขม ตำลึง ใบชะพลู ขี้เหล็ก กะเพรา ถั่วแดง งา ลูกพรุน และขนมปังโฮลวีต เป็นต้น
4. ไอโอดีน มีส่วนช่วยในกระบวนการพัฒนาระบบประสาทของทารก อาหารที่มีไอโอดีนมาก ได้แก่ อาหารทะเล กุ้ง ปู หอย หมึก สาหร่ายทะเล เป็นต้น
5. โฟเลต มีส่วนในการพัฒนาไขสันหลังและระบบประสาทของลูกในครรภ์ พบได้มากในบร็อกโคลี่ คะน้า ข้าวโพด แครอท กะหล่ำปลี ฟักทอง อะโวคาโด แคนตาลูป ถั่ว เป็นต้น
6. แคลเซียม สำคัญต่อการสร้างกระดูกและฟันของทารกในครรภ์ รวมทั้งป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนในคุณแม่ แหล่งอาหารคนท้องที่อุดมไปด้วยแคลเซียม ได้แก่ นม กุ้งแห้ง ปลาตัวเล็ก ผักใบเขียว เช่น ผักโขม ผักคะน้า เป็นต้น
7. ผักและสมุนไพร เป็นแหล่งรวมวิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิด ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายคุณแม่และลูกในครรภ์ อาทิ หน่อไม้ฝรั่ง ผักบุ้ง ผักตำลึง ผักโขม แครอท ฟักทอง ผักใบเขียวทุกชนิด โดยควรรับประทานให้ได้วันละ 3-5 ชนิด
8. ผลไม้ ในผลไม้ประกอบไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุเช่นเดียวกัน จึงช่วยบำรุงครรภ์และส่งเสริมการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ ผลไม้ที่แนะนำ ได้แก่ แอปเปิ้ล ส้ม มะละกอ ฝรั่ง กล้วย ฯลฯ โดยควรทานให้ได้ทุกวัน สลับชนิดกันไป
9. ดีเอชเอ เป็นสารอาหารคนท้องที่สำคัญอย่างยิ่งเนื่องจากมีส่วนช่วยพัฒนาระบบสมองของทารกในครรภ์ แหล่งดีเอชเอที่สำคัญ คือ ปลาทะเล ปลาแซลมอน ปลาทู ปลาทูน่า ปลาสำลี เป็นต้น
10. กรดไขมันโอเมกา 3 มีส่วนช่วยในการเสริมสร้างและกระตุ้นการทำงานของระบบสมอง ความจำ และสติปัญญา พบได้มากในปลาแซลมอน ปลาซาบะ ปลาซาร์ดีน กุ้ง หมึก ปลาแอนโชวี ปลานิลทะเล น้ำมันปลา น้ำมันคาโนล่า เมล็ดฟักทอง และวอลนัท
ทั้งนี้ ในระหว่างการตั้งครรภ์ คุณแม่มือใหม่ควรดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจให้ดีที่สุด รับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ใช้ชีวิตให้ถูกสุขลักษณะ ทำงานและออกกำลังกายแบบพอดี ไม่กังวลเรื่องต่างๆจนเกินไป และที่สำคัญต้องอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำของแพทย์เพื่อเตรียมความพร้อมในการคลอด ลูกน้อยจะได้ออกมาอย่างแข็งแรงสมบูรณ์